"ฉลอม" ประธาน TFOPTA จัดประชุมคณะกรรมการ ปี 2567-2569 ครั้งที่ 1
และร่วมเปิดเส้นทางท่องเที่ยว “ช้อปของดี เที่ยววัดดัง บางคล้า ฉะเชิงเทรา”
นางฉลอม สงล่า ประธานสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (TFOPTA) จัดประชุมคณะกรรมการ สมาคมสมาพันธ์ธุรกิจท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย TFOPTA ปี 2567-2569 ครั้งที่ 1 เพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานร่วมหาแนวทางการขับเคลื่อนในการท่องเที่ยวให้เกิดการสนับสนุน เชื่อมโยงกับหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน โดยมีนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ให้เกียรติร่วมงาน พร้อมด้วยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยวและคณะกรรมการจากทุกภูมิภาคที่มาร่วมประชุมอย่างคับคั่ง ณ ห้องประชุมบางปะกง ณ ห้องบางปะกง ชั้น 2 โรงแรม ที วินเทจ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567
สมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (TFOPTA) จัดประชุมคณะกรรมการในครั้งนี้ ได่ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เพื่อ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด สู่เมืองหลัก พร้อมผลักดันยอดการท่องเที่ยวสู่ 3.55 ล้าน โดยมี นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) พร้อมด้วยคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยว ได้เสนอแนวทางกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว รวมถึงแผนการส่งเสริมการตลาดในรูปแบบใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ในแต่ละภาคแต่ละจังหวัด ซึ่งของดีในแต่ละท้องถิ่นสามารถนำมาเสนอให้ผู้ประกอบการด้านธุรกิจการท่องเที่ยวได้เป็นแนวทางอย่างกว้างขวางและทันสมัยมากขึ้น โดยคณะกรรมการทุกภูมิภาคต่างๆ ร่วมรับแผนและนโยบายที่กล่าวในที่ประชุม รวมทั้งร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้ดำรงอยู่ได้พร้อมพัฒนาสู่เมืองหลัก นำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อส่งเสริมงบประมาณลงสู่ภาคธุรกิจในชุมชนแต่ละภูมิภาคใน 55 จังหวัดเมืองรองสู่เมืองหลักในโอกาสต่อไป
นางฉลอม สงล่า ประธาน TFOPTA กล่าวว่า เรื่องประเด็นสำคัญในการกระตุ้นแหล่งท่องเที่ยว 55 เมืองรองของภูมิภาคเป็นสิ่งสำคัญมาก ตามนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ให้วาระไว้ว่า 55 เมืองรอง เราจะไม่รองอีกแล้ว เราจะร่วมกันผลักดันให้เกิดโอกาสในชุมชนแหล่งท่องเที่ยวของเรา ร่วมกันสร้างเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชนให้ดีขึ้น เมืองหลักที่ดีอยู่แล้วเราก็ยังทำต่อ ส่วนเมืองรองเรายังต้องการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้เกิดเมืองน่าเที่ยว น่าอยู่ แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนยังมีอีกมาก เช่นท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน ท่องเที่ยวเชิงศาสนา ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เป็นต้น เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากได้เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน
ด้าน นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สทท. กล่าวว่า การจัดประชุมสัญจรที่ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทราในครั้งนี้ เราได้สมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (TFOPTA) และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในธุรกิจท่องเที่ยว โดยมีสาระสำคัญเพื่อการกระตุ้นเมืองท่องเที่ยว 55 เมือง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตของภูมิภาค เราได้เชิญคณะกรรมการของ TFOPTA ทั่วประเทศไทยมารวมตัวกันที่นี่มากกว่า 40 ท่าน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวสู่เมืองน่าเที่ยว ซึ่งได้มาแลกเปลี่ยนกลยุทธ์การนำเสนอผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนการเสนอนโยบายที่สอดคล้องกับแผนส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวที่รัฐบาลได้มอบไว้ โดยเราเชื่อว่าการทำแผนท่องเที่ยวในรูปแบบดิจิทัลต้องมา เพื่อให้ทั่วถึงในทุกชุมชนแห่งเมืองน่าเที่ยว เพื่อนำเป้าหมายไปให้ถึงตัวเลขตามที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายไว้ 3.55 ล้าน ต้องไปให้ถึง
นอกจากการประชุมคณะกรรมการ TFOPTA ปี 2567-2569 ครั้งที่ 1 แล้ว ในวันที่ 22 มิถุนายน 2567 ทางนางฉลอม สงล่า ประธาน TFOPTA และคณะกรรมการ ยังได้ร่วมเปิดเส้นทางท่องเที่ยว “ช้อปของดี เที่ยววัดดัง บางคล้า ฉะเชิงเทรา” หนุนเที่ยววันธรรมดา สร้างรายได้ชุมชน ภายใต้สาระสำคัญ “อีอีซี รวมพลังจังหวัดฉะเชิงเทรา สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ ภาคีเครือข่ายภาครัฐ และภาคเอกชน" เชื่อมโยงประโยชน์การลงทุน สู่การท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ อีอีซี โดยมี นางสาวฉัตรประอร นิยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายศิริชัย เผ่าบรรจง นายกเทศมนตรีตำบลบางคล้า ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) นางธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการสายงานพื้นที่และชุมชน สกพอ. และ รศ.ดร.ดวงพร ภู่ผะกา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ฉะเชิงเทรา ร่วมในพิธี ณ วัดแจ้งบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อชูอัตลักษณ์ ความโดดเด่นของสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ผ่านสายน้ำบางปะกง โดยบูรณาการร่วมกับจังหวัดฉะเชิงเทราและเครือข่ายในพื้นที่ อีอีซี วิสาหกิจชุมชน นำสินค้า ผลิตภัณฑ์ชุมชน มาจำหน่ายในเส้นทางการท่องเที่ยว สร้างโอกาสเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวให้ชุมชนในพื้นที่โดยรอบ
ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การเปิดเส้นทางท่องเที่ยว “ช้อปของดี เที่ยววัดดัง บางคล้า ฉะเชิงเทรา” ในครั้งนี้ อีอีซี ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง อาทิ จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะสำนักงานเทศบาลตำบลบางคล้า และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวอำเภอบางคล้า ฉะเชิงเทรา เชื่อมโยงองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกระดับบริการด้านการท่องเที่ยวในชุมชนให้มีคุณภาพตรงความพร้อมร่วมเปิดงาน "การเชื่อมโยงประโยชน์การลงทุน สู่การท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่ อีอีซี" ให้มีความพร้อมตรงความต้องการของตลาดและนักท่องเที่ยวยิ่งขึ้น ซึ่งเริ่มนำร่องในพื้นที่บางคล้าแหล่งชุมชนโดยรอบที่มีศักยภาพ รองรับกลุ่มนักลงทุน และผู้ที่จะเข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่อีอีซี ให้สามารถเที่ยวได้ทั้งวันหยุดและวันธรรมดา พร้อมเลือกซื้อสินค้าและของดีเมืองฉะเชิงเทรา อาทิ ขนมเปี๊ยะ มะม่วง มะพร้าว น้ำตาลสด กุ้งแม่น้ำ และข้าวหอมมะลิจากอำเภอราชสาส์น ที่เป็นต้นกำเนิดของข้าวหอมมะลิ 105 เป็นต้น
ปิดท้ายด้วย นางฉลอม สงล่า ประธานสมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (TFOPTA) พร้อมด้วยนายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และคณะกรรมการ TFOPTA ลงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งลุ่มแม่น้ำบางปะกง ได้แก่ กราบสักการะท้าวเวสสุวรรณสามขาเหยียบหีบสมบัติ แห่งวัดแจ้ง บางคล้า ช้อปปิ้งตลาดบางคล้า นั่งเรือล่องแม่น้ำบางปะกง ชมทัศนียภาพสองฝั่งแม่น้ำ ชมพระอุโบสถเงิน หนึ่งเดียวบนเกาะลัด ณ วัดพุทธพรหมยาน สักการะอนุสรณ์สถานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปากน้ำโจ้โล้ และร่วมสักการะพระพิฆเนศ เนื้อสำริดองค์ยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ อุทยานพระพิฆเนศคลองเขื่อน ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ที่มีนามว่า “พระพิฆเนศปางยืน องค์สำริด สำเร็จ สมปรารถนา” เป็นพระพิฆเนศองค์ยืนปางเกษตร เนื้อโลหะบรอนซ์นอก (สำริด) สีดำ สูง 30 เมตร ถ้านับความสูงรวมฐานสูง 39 เมตร ประกอบด้วยชิ้นส่วน 854 ชิ้น พระหัตถ์ทั้ง 4 ถือ พืชพรรณและธัญญาหาร ได้แก่ กล้วย ยอดอ้อย มะม่วง ขนุน และที่พระบาทมีหนูกอดลูกมะพร้าวซึ่งมีความหมาย คือ ความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินเชื่อกันว่า หากท่านใดได้ว่ากราบไหว้ จะนำพาให้ชีวิต มีแต่โชคลาภและสิ่งอันเป็นมงคงมาสู่ตนเองและครอบครัว เป็นที่เคารพและศรัทธาแก่นักท่องเที่ยวสายมูทั้งในและต่างประเทศ ซึ่ง สกพอ. ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ผลักดันให้พื้นที่นี้เป็นอีกหนึ่ง destination ของนักลงทุนที่มาใช้ชีวิตยามว่าง และพักผ่อนจากการทำงาน. ภายในบริเวณอุทยานยังมีเทวรูปของพระพิฆเนศประจำวันเกิด, พระแม่อุมา, พระอิศวร, พระพิฆเนศจำลองจากเมืองต่างๆ ในประเทศอินเดีย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น